Posted on / by Blue Elephant

ผ้าทอลายธรรมดากับผ้าทอลายทแยงแตกต่างกันอย่างไร?

ผ้า หรือในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Textile มีรากฐานมาจากภาษาละติน “texere” ที่แปลว่าทอผ้า แต่ในความหมายดั้งเดิมนั้นจะใช้กันในแง่ของ “ผ้าทอ” เท่านั้น แต่ปัจจุบันยังครอบคลุมไปถึงเส้นใย ด้าย การทอผ้า หรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากเส้นใยต่างๆ ที่นำมาทอจนเป็นเนื้อหรือเป็นผืนเดียวกัน

ในปัจจุบันเรานี้ ด้วยนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ของมนุษย์เรา ทำให้เกิดผ้าในแบบต่างๆ มากมายนับไม่ถ้วนในหลายอุตสาหกรรม เช่น ในอุตสาหกรรมของใช้ทั่วไปก็จะมี ผ้าม่าน ผ้าขนหนู ผ้าปูเตียง ถุงชา/กาแฟ ฯลฯ อุตสาหกรรมเฉพาะทาง เช่น ชุดทนความร้อนสูงของนักดับเพลิง เกราะกันกระสุนในวงการทหาร ไหมศัลยกรรมในวงการแพทย์ ที่มีทั้งไหมละลายและไม่ละลาย เป็นต้น แต่ที่น่าจะกินสัดส่วนมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์เลยก็ว่าได้

แต่แม้ว่าจะไม่ใช่ในอุตสาหกรรมเฉพาะทาง แต่อุตสาหกรรมการทอผ้าทุกวันนี้ก็ได้มีการพัฒนา โดยเฉพาะในเรื่องของการทอ ที่จะทำให้ผ้ามีความทนทานต่อการใช้งานมากขึ้น และในตลาดปัจจุบัน ลักษณะการทอที่ง่ายที่สุด ในขณะที่ยังมอบความทนทานให้กับเนื้อผ้าก็จะมีอยู่ 2 แบบหลักๆ นั่นก็คือผ้าทอลายธรรมดากับผ้าทอลายทแยง

แล้วผ้าทอลายธรรมดากับผ้าทอลายทแยงมันคืออะไรกันล่ะ แล้วมีความแตกต่างกันอย่างไร เรามีคำตอบมาให้แล้ว

ตัวอย่างการทอลายธรรมดาแบบสมดุล (balanced plain weave)
ตัวอย่างการทอลายธรรมดาแบบสมดุล (balanced plain weave)

ผ้าทอลายธรรมดาคืออะไร?

ผ้าทอลายธรรมดา (Plain weave) คือการทอแบบด้ายยืนและด้ายพุ่งมาทอขัดกันเหมือนการสานตะกร้าหวาย แบบ 1 ต่อ 1 โดยด้ายพุ่งจะสอดใต้และข้ามด้ายยืน สอดขัดกันไปแบบขึ้นหนึ่งลงหนึ่งสลับกันไปเรื่อย ๆ การทอในลักษณะนี้จะทำให้ได้เนื้อผ้าที่ค่อนข้างแน่น และหลุดลุ่ยได้ยากเมื่อเทียบกับการทอลายอื่น ๆ

ผ้าทอลายธรรมดา จะสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ นั่นก็คือ

  • การทอแบบสมดุล (balanced plain weave): ซึ่งก็คือการทอแบบ 1:1 จะมีลวดลายที่เท่าๆ กันทั้งเนื้อผ้า
  • การทอแบบไม่สมดุล (unbalanced plain weave): ก็คือการทอแบบ 1:1 แต่จะมีลวดลายที่ไม่เท่ากัน เราจะสามารถแยกย่อยออกไปได้อีก 2 แบบ
    • การทอให้เห็นด้ายยืนมากกว่าด้ายพุ่ง (warp faced) นิยมใช้ทอผ้าที่ต้องการให้เห็นริ้วในแนวตั้ง เช่น สายสะพายกล้อง
    • การทอให้เห็นด้ายพุ่งมากกว่าด้ายยืน (weft faced) นิยมใช้ทอผ้าที่ต้องการให้เห็นริ้วในแนวขวาง ลายแบบนี้เราจะเห็นได้บ่อย เช่น พรมเช็ดเท้า หรือผ้าต่างๆ ที่เราเห็นลายตามยาวไปกับผ้า

ผ้าทอธรรมดาใช้ทำอะไร?

ผ้าทอลายธรรมดาสามารถเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นการทอแบบทาเฟต้า (taffeta) หรือผ้าทาเฟต้า

โดยปกติแล้ว การทอลายธรรมดาจะใช้ขนาดด้ายเท่าๆ กัน ส่วนมากก็จะใช้ขนาด 300D สานขัดกัน แต่ปัจจุบันก็จะมีการเพิ่มลูกเล่นใหม่ๆ เข้าไปเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น

  • การทอผ้าลูกฟูก (Corduroy Weave) จะทำการทอโดยใช้เส้นด้ายยืนและเส้นด้ายพุ่งคนละขนาด เพื่อให้เกิดเป็นรอยนูนเป็นสันขึ้นบนผ้า
  • การทอสานตะกร้า (Basket weave หรือ Hopsack) เป็นเหมือนการทอลายธรรมดาปกติ แต่จะใช้ด้ายยืนและด้ายพุ่งตั้งแต่ 2 เส้นขึ้นไป (2:2) มักเห็นได้บ่อยในผ้ากระสอบ และผ้าอ็อกซ์ฟอร์ด ที่ใช้เส้นด้ายขนาดเล็ก
  • การทอแบบผสม หรือการใช้เส้นด้าย 2 ประเภทมาทอเข้าด้วยกันด้วยการทอลายธรรมดาแบบดั้งเดิม คือขนาดด้ายเท่าๆ กันแบบ 1:1 เช่น ผ้าโอซาก้า ที่ใช้เส้นใยสังเคราะห์ ผสมกับผ้าเรยอน หรือจะเป็นผ้าลายช้าง ที่จะใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ สานเข้ากับผ้าเรย่อน โดยผ้าทั้ง 2 ประเภท ทั้งผ้าโอซาก้าและผ้าลายช้าง ก็จะมีที่ใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ 100% ด้วยเช่นกัน แต่หลายเจ้าที่เน้นนำไปทำเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ก็จะใส่เส้นใยผ้าเรย่อน หรือไหมเทียม เข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มความนุ่มลื่นให้กับผ้า
ตัวอย่างโครงสร้างผ้า twill Z
ตัวอย่างโครงสร้างผ้า twill Z

ผ้าทอลายทแยงคืออะไร?

ผ้าทอลายทแยง (Twill weave) จะเป็นการทอโดยการนำเอาเส้นด้ายอย่างน้อย 3 ชุดในอัตรา ด้ายพุ่ง:ด้ายยืน = 1:2 มาทอให้เกิดการเหลื่อมกัน การทอเช่นนี้จะทำให้เกิดเส้นทแยงบนเนื้อผ้า ทำให้เรียกว่าผ้าทอลายทแยง แต่อัตราส่วนนั้นก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ว่าผู้ผลิตต้องการให้ผ้าเป็นลายแบบไหน แต่ที่เราสามารถเห็นได้ทั่วไปจะมี 3 อัตรา คือ 1:2, 1:3, 3:2 (ซึ่งอัตราส่วนสามารถสลับกันได้หน้าหลัง)

เช่นเดียวกับการทอผ้าลายธรรมดา โดยปกติไม่ว่าจะทอในอัตราส่วนไหน ขนาดด้ายก็มักจะใช้ขนาดเท่าๆ กันเสมอ แต่สำหรับผ้าโซลอน (solon) จะใช้ขนาดด้ายที่แตกต่างกันผสมกัน โดยหลักๆ จะใช้ขนาด 150D ทอเข้ากับด้ายขนาด 300D

ในการทอผ้าลายทแยงจะมีการระบุทิศทางการทแยงเอาไว้ด้วย หากผ้าทแยงขึ้นไปทางซ้าย จะเรียกว่า “โครงสร้างผ้า twill S” ในทางกลับกัน หากลายผ้าทแยงขึ้นไปทางขวาก็จะถูกเรียกว่า “โครงสร้างผ้า twill Z”

ปัจจุบัน นักทอผ้าก็มีการพัฒนาลวดลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นการทอแบบ Herringbone ที่จะเป็นการผสมโครงสร้าง twill S กับ Z เข้าด้วยกันเป็นลายฟันปลา (zig zag) หรือการทอแบบ Diamond ที่จะผสมกัน 2 โครงสร้างเป็นลายสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลายนี้อาจจะทำยากหน่อย แต่สวยไม่น้อยเลยทีเดียว

ผ้าทอลายทแยงใช้ทำอะไร?

ผ้าที่ได้จากการทอลายทแยง จะทำให้ด้านหน้าผ้าจะมีพื้นผิวเรียบ ในขณะที่ด้านหลังผ้าจะมีความหยาบ พร้อมกับความทนทาน ทนต่อรอยยับได้ดีกว่าผ้าทอลายธรรมดา แต่ก็ต้องแลกมากับน้ำหนักผ้าที่หนักกว่า เพราะใช้ด้ายเยอะกว่าในขนาดที่เท่ากัน

เราจะเห็นผ้าที่ใช้การทอลายทแยงได้บ่อยในกางเกงยีนส์ แต่นอกเหนือจากนั้นก็จะมีเสื้อเชิ้ตทางการและเสื้อเชิ้ตทำงาน เพราะนอกจากที่กล่าวไปข้างต้นว่าผ้าทอลายทแยงทนต่อรอยยับ ยังรีดได้ง่าย และหากรีดแบบอัดความร้อน จะช่วยส่งเสริมให้เนื้อผ้ามีความเงาขึ้นกว่าปกติอีกด้วย พร้อมกับทำให้ผ้ามีคราบเลอะเปรอะเปื้อนฝังติดได้ยากกว่าเนื้อผ้าลายอื่นๆ

มากกว่านั้น ด้วยคุณสมบัติที่ทนมากๆ ทำให้การทอลายทแยงกลายเป็นเทคนิคการทอแบบต้นๆ ในผ้าเฉพาะทางเช่น ชุดทางทหาร กระเป๋า และหากเพิ่มคุณสมบัติพิเศษเช่นการกันน้ำ หรือใช้เส้นใยพิเศษก็จะสามารถเพิ่มความทนทานความร้อนได้สูงแบบที่เราจะได้เห็นกันในชุดของนักดับเพลิง

ผ้าทอธรรมดากับผ้าทอลายทแยงแตกต่างกันอย่างไร ผ้าแบบไหนแข็งแรงกว่ากัน

กล่าวกันโดยสรุป ผ้าทอธรรมดากับผ้าทอลายทแยงนั้นมีความแตกต่างกันตั้งแต่เทคนิคในการทอผ้า ที่ผ้าทอลายธรรมดาจะทอโดยการสานด้ายพุ่งเข้าไปในด้ายยืนแบบ 1:1 เป็นการทำที่ง่ายที่สุดแต่ก็ให้ความทนทานได้เช่นกัน ในขณะที่การทอลายทแยงจะใช้ด้ายพุ่งสานเข้าไปในด้ายยืนแบบ 1:2 ที่ถึงแม้จะให้น้ำหนักที่มาก แต่ก็มีความทนทานมากกว่า ทนต่อรอยยับได้ดีกว่าการทอแบบอื่นๆ พร้อมกับให้ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์จนทำให้การทอลายธรรมดาดูธรรมดาไปเลยจริงๆ

และการเป็นเทคนิคการทออันดับต้นๆ ของผ้าเฉพาะทาง ก็เป็นเหมือนเครื่องหมายบอกไปแล้วว่าการทอในลักษณะนี้แข็งแรงขนาดไหน